nazepunk

 


สงครามโลกครั้งที่สอง (อังกฤษ: World War II หรือ Second World War; มักย่อว่า WWII หรือ WW2) เป็นความขัดแย้งทางทหารในระดับโลกตั้งแต่ ค.ศ. 1939 ถึง 1945 ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก รวมทั้งรัฐมหาอำนาจทั้งหมด ประเทศผู้ร่วมสงครามรวมตัวกันเป็นพันธมิตรทางทหารสองฝ่ายคู่สงคราม คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะ ระหว่างสงครามมีการระดมทหารมากกว่า 100 ล้านนาย ด้วยลักษณะของ "สงครามเบ็ดเสร็จ" ประเทศผู้ร่วมสงครามหลักได้ทุ่มเทขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เพื่อความพยายามของสงครามทั้งหมด โดยไม่เลือกว่าทรัพยากรนั้นจะเป็นของพลเรือนหรือทหาร ประมาณกันว่าสงครามมีมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยประการทั้งปวง สงครามโลกครั้งที่สองจึงนับว่าเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่สุด ใช้เงินทุนมากที่สุด และนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 40 ถึงมากกว่า 70 ล้านคน

โดยทั่วไปมักถือว่าสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้นหลังจากการรุกรานโปแลนด์ของเยอรมนี ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 ซึ่งนำไปสู่การประกาศสงครามต่อเยอรมนีของฝรั่งเศสและประเทศส่วนใหญ่ในจักรวรรดิอังกฤษและเครือจักรภพแห่งชาติ ภายในหนึ่งปี เยอรมนีมีชัยเหนือยุโรปตะวันตกเกือบทั้งหมด คงเหลือเพียงสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพที่ยังคงเป็นกำลังหลักที่ยังต่อกรกับเยอรมนีทั้งบนเกาะบริเตนและในการรบทางทะเลอย่างกว้างขวาง ใน ค.ศ. 1941 เยอรมนีได้รับชัยชนะในพื้นที่คาบสมุทรบอลข่านและเกาะครีต รวมทั้งได้ส่งทหารไปช่วยอิตาลีในทวีปแอฟริกา ตลอดจนส่งทหารรุกรานสหภาพโซเวียต ซึ่งนับว่าเป็นเขตสงครามภาคพื้นดินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่นซึ่งกำลังทำสงครามกับจีนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1937 ด้วยปรารถนาจะยึดครองเอเชียทั้งหมด จึงฉวยโอกาสโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์และส่งทหารรุกรานหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

การรุกคืบของฝ่ายอักษะยุติลงใน ค.ศ. 1942 หลังจากความพ่ายแพ้ในญี่ปุ่นในยุทธนาวีมิดเวย์ และหลังจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะทวีปยุโรปในอียิปต์และที่สตาลินกราด ใน ค.ศ. 1943 จากความปราชัยของเยอรมนีที่เคิสก์ในยุโรปตะวันออก การรุกรานอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตร ตลอดจนถึงชัยชนะของสหรัฐอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ทำลายการริเริ่มและส่งผลทำให้ฝ่ายอักษะล่าถอยทางยุทธศาสตร์ในทุกแนวรบ ใน ค.ศ. 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดแนวรบใหม่ในฝรั่งเศส เช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตที่ยึดดินแดนคืนและรุกรานเยอรมนีและพันธมิตร

สงครามในทวีปยุโรปยุติลงหลังการยึดครองเบอร์ลินโดยกองทัพโซเวียต และการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขของเยอรมนีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1945 แม้จะถูกโดดเดี่ยวและตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นยังคงปฏิเสธที่จะยอมจำนน กระทั่งมีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์สองลูกถล่มญี่ปุ่น และการรุกรานแมนจูเรีย จึงได้นำไปสู่การยอมจำนนอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 194

สงครามยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ผลของสงครามได้เปลี่ยนแปลงการวางแนวทางการเมืองและโครงสร้างทางสังคมของโลกสหประชาชาติถูกสถาปนาขึ้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและเพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคต สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตก้าวเป็นอภิมหาอำนาจของโลกอันเป็นคู่ปรปักษ์กัน นำไปสู่ความขัดแย้งบนเวทีแห่งสงครามเย็น ซึ่งได้ดำเนินต่อมาอีก 46 ปีหลังสงคราม ขณะเดียวกัน การยอมรับหลักการการกำหนดการปกครองด้วยตนเองเร่งให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา พร้อม ๆ กับที่หลายประเทศได้มุ่งหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายระหว่างสงคราม และบูรณาการทางการเมืองได้เกิดขึ้นทั่วโลกในความพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพความสัมพันธ์หลังสงคราม



สงครามโลกครั้งที่หนึ่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงดินแดนอย่างใหญ่หลวงในยุโรป ด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายมหาอำนาจกลาง รวมทั้งการล่มสลายของรัฐจักรวรรดิที่สำคัญ ได้แก่ จักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิออตโตมัน ตลอดจนจักรวรรดิรัสเซีย ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อิตาลี เซอร์เบียและโรมาเนีย รวมไปถึงการก่อตั้งรัฐใหม่หลังจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียและออตโตมันล่มสลาย หลังสงครามชาตินิยมอุดมการณ์เรียกร้องดินแดน (irredentism) และลัทธิแก้แค้น (revanchism) กลายมามีความสำคัญในหลายประเทศยุโรป อุดมการณ์เรียกร้องดินแดนและลัทธิแก้แค้นแรงกล้ามากในเยอรมนี เพราะเยอรมนีบังคับตามสนธิสัญญาแวร์ซาย เป็นผลให้เยอรมนีเสียดินแดนของประเทศไปร้อยละ 13 รวมทั้งอาณานิคมโพ้นทะเลทั้งหมด การรวมเยอรมนีเข้ากับประเทศอื่นถูกห้าม ซ้ำต้องแบกภาระชำระค่าปฏิกรรมสงครามมหาศาล และถูกจำกัดขนาดและขีดความสามารถของกองทัพอย่างมาก ขณะเดียวกัน สงครามกลางเมืองรัสเซียได้นำไปสู่การก่อตั้งสหภาพโซเวียต นำโดยพรรคบอลเชวิค ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์

จักรวรรดิเยอรมันสิ้นสภาพไปจากการปฏิวัติเยอรมนีใน ค.ศ. 1918-19 และรัฐบาลประชาธิปไตยถูกตั้งขึ้น ซึ่งภายหลังรู้จักกันว่าสาธารณรัฐไวมาร์ ในเยอรมนีระหว่างสงครามโลกได้เกิดความขัดแย้งภายในขึ้นระหว่างผู้สนับสนุนสาธารณรัฐใหม่และผู้คัดค้านที่ยึดมั่นทางฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย พรรคนาซี นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เจริญรอยตามการจัดตั้งรัฐบาลฟาสซิสต์ตามอย่างอิตาลีในเยอรมนี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ทำให้การสนับสนุนพรรคนาซีภายในประเทศเพิ่มขึ้น และใน ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หลังเหตุการณ์เพลิงไหม้ไรช์สทัก ฮิตเลอร์สถาปนารัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จพรรคการเมืองเดียวนำโดยพรรคนาซี

สถานการณ์คล้ายกันนี้ยังได้เกิดขึ้นในอิตาลี แม้ว่าอิตาลีจะเป็นพันธมิตรฝ่ายไตรภาคีและได้รับดินแดนอยู่บ้าง แต่พวกชาตินิยมอิตาลีรู้สึกโกรธแค้นที่คำมั่นสัญญาของอังกฤษและฝรั่งเศสให้ไว้เพื่อให้อิตาลีเข้าสู่สงครามในสนธิสัญญาลอนดอน ไม่เป็นไปตามการตกลงสันติภาพ นับจาก ค.ศ. 1922 ถึง 1925 ขบวนการฟาสซิสต์ นำโดยเบนิโต มุสโสลินี ยึดอำนาจในอิตาลีด้วยวาระชาตินิยม เผด็จการเบ็ดเสร็จและความร่วมมือระหว่างชนชั้น ซึ่งยกเลิกระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน สังคมนิยมใช้อำนาจบังคับ กำลังฝ่ายซ้ายและเสรีนิยม และดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบก้าวร้าวโดยมีเป้าหมายเพื่อสถาปนาอิตาลีเป็นมหาอำนาจของโลกโดยใช้กำลัง คือ "จักรวรรดิโรมันใหม่"

ส่วนทางด้านประเทศจีน รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งได้เริ่มการทัพรวมชาติขึ้นต่อต้านเหล่าขุนศึกอิสระ จนนำไปสู่การรวมชาติในนามราวกลางคริสต์ทศวรรษ 1920 แต่หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลจีนกลับต้องเข้าไปพัวพันในสงครามกลางเมืองกับพันธมิตรเก่า พรรคคอมมิวนิสต์จีน ใน ค.ศ. 1931 จักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการจะมีอิทธิพลเหนือประเทศจีนมาเป็นเวลานานแล้ว กำลังเพิ่มกำลังทหารในจีนอย่างขนานใหญ่ เพื่อเป็นแผนการขั้นแรกในการเข้าปกครองทั้งทวีปเอเชีย โดยใช้กรณีมุกเดนเป็นข้ออ้างในการรุกรานแมนจูเรีย และจัดตั้งรัฐหุ่นเชิด แมนจูกัว จีนได้ขอความช่วยเหลือจากสันนิบาตชาติ ญี่ปุ่นจึงลาออกจากองค์การหลังมีการประณามการรุกรานดังกล่าว หลังจากนั้น ทั้งสองชาติได้เกิดการปะทะกันประปรายขึ้นอีกหลายครั้ง จนกระทั่งนำไปสู่การพักรบตางกู ในปี ค.ศ. 1933 แต่ถึงกระนั้น กองกำลังอาสาจีนก็ยังคงต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นต่อไปในอีกหลายพื้นที่ ทั้งในแมนจูเรียและมองโกเลียใน

ต่อมา ฮิตเลอร์สนับสนุนนโยบายการจัดระเบียบโลกใหม่โดยอาศัยปัจจัยทางด้านเชื้อชาติ และเริ่มเสริมสร้างกำลังทหารครั้งใหญ่ เพื่อรักษาพันธมิตรของตน ฝรั่งเศสจึงยินยอมให้อิตาลียึดครองเอธิโอเปีย ซึ่งอิตาลีต้องการยึดเป็นอาณานิคมอยู่แล้ว เหตุการณ์เริ่มเลวร้ายยิ่งขึ้นเมื่อถึงช่วงต้น ค.ศ. 1935 ซาร์ลันด์ได้รวมเข้ากับเยอรมนีตามกฎหมาย และฮิตเลอร์ได้ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซาย พร้อมกับเร่งการฟื้นฟูกองทัพและเริ่มให้มีการเกณฑ์ทหารอย่างรวดเร็ว

ในความพยายามที่จะจำกัดวงเยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิตาลีจึงก่อตั้งแนวสเตรซาขึ้น ด้านสหภาพโซเวียตเองก็กังวลต่อเป้าหมายยึดครองดินแดนยุโรปตะวันออกอันกว้างใหญ่ของเยอรมนีเช่นกัน จึงได้ทำสนธิสัญญาช่วยเหลือทวิภาคีกับฝรั่งเศส แต่สนธิสัญญาฝรั่งเศส-โซเวียตต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนของสันนิบาตชาติเสียก่อน ทำให้สนธิสัญญาดังกล่าวไม่มีผลเลย ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1935 สหราชอาณาจักรได้ทำสนธิสัญญาการเดินเรือแยกต่างหากกับเยอรมนี โดยผ่อนปรนต่อข้อบังคับต่าง ๆ ที่เคยกำหนดมาก่อนหน้านี้ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็กังวลต่อสถานการณ์ซึ่งอุบัติขึ้นในทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย จึงได้ผ่านรัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลางในเดือนสิงหาคม ในเดือนตุลาคมอิตาลีรุกรานเอธิโอเปีย โดยมีเพียงเยอรมนีเป็นมหาอำนาจชาติเดียวในยุโรปที่สนับสนุนการรุกรานดังกล่าว อิตาลีจึงยกเลิกข้อคัดค้านต่อเป้าหมายการผนวกออสเตรียของเยอรมนี

เดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 ฮิตเลอร์การส่งกองทัพเข้ายึดครองไรน์แลนด์ อันเป็นการฝ่าฝืนสนธิสัญญาโลคาร์โน แต่ก็ได้รับการตอบสนองน้อยมากจากชาติยุโรปอื่น ๆ ครั้นเมื่อสงครามกลางเมืองสเปนปะทุขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ทั้งฮิตเลอร์และมุสโสลินีได้ให้ความสนับสนุนแก่จอมทัพฟาสซิสต์ ฟรันซิสโก ฟรังโก และฝ่ายชาตินิยมสเปน เพื่อต่อต้านรัฐบาลสาธารณรัฐสเปนที่สอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ทั้งสองฝ่ายต่างใช้สงครามครั้งนี้เป็นสนามทดสอบอาวุธและยุทธวิธีในการทำสงครามที่คิดค้นขึ้นใหม่ด้วย จนกระทั่งฝ่ายชาตินิยมสเปนได้รับชัยชนะเมื่อต้น ค.ศ. 1939 จากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ได้นำไปสู่ความพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งหรือการรวมกลุ่มระหว่างประเทศขึ้น เยอรมนีได้ร่วมมือกับอิตาลีก่อตั้งแกนโรม-เบอร์ลินขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1936 และทำสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลกับญี่ปุ่นในเดือนถัดมา ซึ่งอิตาลีก็ได้เข้าร่วมด้วยใน ค.ศ. 1937 ส่วนในประเทศจีน หลังจากกรณีซีอาน กองทัพพรรคก๊กมินตั๋งและกองทัพคอมมิวนิสต์ได้ตกลงหยุดยิงเพื่อร่วมกันสร้างแนวร่วมต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่น

กลาง ค.ศ. 1937 หลังเหตุการณ์สะพานมาร์โค โปโล ญี่ปุ่นเริ่มการรุกรานจีนอย่างเต็มตัว ซึ่งลงเอยด้วยการทัพที่มีเป้าหมายจะรุกรานจีนทั้งหมด สหภาพโซเวียตเร่งลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับจีนและให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุดิบแก่จีน เป็นการยุติความร่วมมือกับเยอรมนีของจีนที่มีอยู่ก่อนหน้า จอมทัพเจียง ไคเช็คได้วางกำลังพลที่ดีที่สุดของเขาเพื่อป้องกันเซี่ยงไฮ้ แต่ก็เสียเมืองไปหลังการสู้รบนานสามเดือน กองทัพญี่ปุ่นยังผลักดันกองทัพจีนให้ล่าถอยต่อไป และสามารถยึดนานกิงได้ในเดือนธันวาคม และกระทำการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยม เมื่อถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1938 กองทัพจีนสามารถหยุดการรุกคืบของกองทัพญี่ปุ่นได้โดยเหตุอุทกภัยแม่น้ำหวง ในช่วงนี้ จีนได้เตรียมการป้องกันที่เมืองอู่ฮั่นแต่ก็ยังถูกตีแตกในเดือนตุลาคม แม้ว่าฝ่ายญี่ปุ่นจะได้รับชัยชนะทางทหาร แต่กลับไม่สามารถทำลายการต้านทานของจีนลงได้อย่างที่หวัง โดยรัฐบาลจีนย้ายลึกเข้าไปในแผ่นดินถึงฉงชิ่งแล้วทำสงครามต่อ


29 กรกฎาคม ค.ศ. 1938 กองทัพญี่ปุ่นและกองทัพโซเวียตปะทะกันอย่างประปรายที่ทะเลสาบคาซาน แม้ว่าโซเวียตจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ญี่ปุ่นกลับมองว่าเป็นการเสมอที่ยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1939 ญี่ปุ่นตัดสินใจขยายพรมแดนญี่ปุ่น-มองโกเลียขึ้นไปถึงแม่น้ำคาลคิน โกลด้วยกำลัง แม้ว่าญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จในระยะแรก แต่กองทัพกวนตงในมองโกเลียได้ถูกขัดขวางอีกครั้ง และสงครามยุติลงด้วยสัญญาหยุดยิงเมื่อวันที่ 15 กันยายน โดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงดินแดนใด ๆ นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญครั้งแรกกองทัพกวนตง ความพ่ายแพ้ดังกล่าวได้ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นควรมุ่งปรองดองกับรัฐบาลโซเวียตเพื่อมิให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสงครามในจีน และหันเหความสนใจทางทหารไปทางใต้ ไปยังดินแดนในครอบครองของสหรัฐอเมริกาและยุโรปในแปซิฟิกแทน

 

ด้านทวีปยุโรป บทบาทของเยอรมนีและอิตาลีเริ่มก้าวร้าวมากขึ้น ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1938 เยอรมนีผนวกออสเตรีย โดยมีปฏิกิริยาจากชาติตะวันตกอื่น ๆ เพียงเล็กน้อยเช่นเดิม ด้วยความฮึกเหิม ฮิตเลอร์จึงอ้างสิทธิครอบครองซูเดเตนแลนด์ ดินแดนของเชโกสโลวาเกียซึ่งมีพลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน โดยขัดต่อความต้องการของรัฐบาลเชโกสโลวาเกีย ฝรั่งเศสและอังกฤษยินยอมให้เยอรมนียึดครองซูเดนเตแลนด์ เพื่อแลกกับการหยุดแสวงหาดินแดนเพิ่มเติม ทว่าหลังจากนั้น เยอรมนีและอิตาลีได้บังคับให้เชโกสโลวาเกียยกดินแดนให้กับฮังการีและโปแลนด์อีกและในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 เยอรมนีรุกรานเชโกสโลวาเกียส่วนที่เหลือ และแบ่งประเทศออกเป็นรัฐในอารักขาโบฮีเมียและโมราเวียของเยอรมนี และรัฐหุ่นเชิดอิสระนิยมเยอรมนี สาธารณรัฐสโลวัก

ด้วยความตื่นตัวจากเหตุที่ฮิตเลอร์ต้องการนครเสรีดานซิกเพิ่มเติม ฝรั่งเศสและอังกฤษจึงรับประกันว่าจะให้การสนับสนุนเอกราชของโปแลนด์ และเมื่ออิตาลียึดครองแอลแบเนียในเดือนเมษายน ค.ศ. 1939 ฝรั่งเศสและอังกฤษก็ให้คำมั่นเช่นเดียวกันนี้แก่โรมาเนียและกรีซ ไม่นานหลังจากการให้คำมั่นดังนี้ ทางด้านเยอรมนีและอิตาลีก็ร่วมมือกันและลงนามเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาเหล็ก

เดิมสหภาพโซเวียตพยายามเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อพยายามจำกัดวงเยอรมนี แต่ทั้งสองชาติปฏิเสธ ด้วยแคลงใจในเจตนาและความสามารถของสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตเกรงว่าสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสไม่ปรารถนาจะให้ความร่วมมือทางทหารแก่ตน และวิตกว่าอาจเกิดสงครามระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต โดยฝ่ายสัมพันธมิตรอาจเอนเอียงเข้ากับฮิตเลอร์ ทำให้สหภาพโซเวียตลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงลับระหว่างทั้งสองที่จะแบ่งกันครอบครองยุโรปตะวันออก โดยยกโปแลนด์ตะวันตกและลิทัวเนียให้อยู่ในเขตอิทธิพลของเยอรมนี และยกโปแลนด์ตะวันออก ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวียและแคว้นเบสซาราเบียของโรมาเนียให้อยู่ในเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งคำถามถึงการมีเอกราชของโปแลนด์ต่อไปด้วย

Advertising Zone    Close
 
 
Online:  1
Visits:  7,259
Today:  4
PageView/Month:  4

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com